เกี่ยวกับภาควิชา

ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า รวบรวมงานทางด้านศิลปกรรมของภาคเหนือ

ภาควิชาศิลปะไทย จำแนกเป็น 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาศิลปะไทย สาขาวิชาการออกแบบ สาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง ซึ่งล้วนมีเป้าหมายร่วมกัน คือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคม เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศ สามารถถ่ายทอด เผยแพร่ และ สามารถวิจารณ์พัฒนาการได้อย่างมีเอกภาพและวิสัยทัศน์

ปรัชญาแห่งภาควิชา
ปรัชญาหมายถึง หลักแห่งการเรียนรู้ที่เป็นจริง ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ เน้นการศึกษาเรียนรู้ถึงแก่นแท้
แห่งภูมิหลังความเป็นมาของตนเอง ทางด้านศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรม เพื่อเป็นบรรทัดฐานของการปรับใช้ใน
สังคมปัจจุบันได้อย่างถูกครรลอง ส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมระดับสากลได้อย่างสมภาคภูมิ

ปณิธานแห่งภาควิชา
ภาควิชาศิลปะไทยมีความมุ่งมั่นต่อนักศึกษาที่จะให้ศึกษาเรียนรู้ สืบสาน และมีการสร้างสรรค์มรดกศิลปวัฒนธรรม
ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ และขยายในวงกว้างระดับภูมิภาคเอเชีย

 

สาขาวิชาศิลปะไทย

05ศิลปะไทยเป็นหลักสูตรแรกเริ่ม ที่กระตุ้นความน่าสนใจให้ก่อตั้งคณะวิจิตรศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘             จากนั้นได้ทำการปรับปรุงหลักสูตร และมีความพร้อมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖                   ต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรพร้อมทั้งวิชาต่างๆ ให้ทันสมัยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ในแต่ละปี สาขาศิลปะไทย           ได้สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งทางความคิด ทรงความรู้และคุณภาพสู่สังคมปีละ ประมาณ ๑๕-๓๐ คน

วัตถุประสงค์ของสาขาศิลปะไทย
๑. เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ ทั้งด้านลึกและด้านกว้างเกี่ยวกับที่มาของความเป็นไทยและศิลปะไทย อันทำให้เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีทัศนคติที่ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
๒. เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ สามารถเป็นนักวิชาการศิลปะที่มีความก้าวหน้า
๓. เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีแนวคิดและทักษะในการค้นคว้าวิจัย สร้างผลงานศิลปะ และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของล้านนา
๔. เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีคุณธรรม มีจริยธรรมต่อวัฒนธรรมประเพณี อันเป็นการสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม

 

02สาขาวิชาการออกแบบ

เมื่อภาควิชาศิลปะไทยสามารถสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์มาได้ระดับหนึ่ง และได้รับการตอบรับอย่างดีจาก       สังคม    ต่อมาประเทศของเราต้องการนำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมที่ดีงามสู่ต่างชาติขณะเดียวกันก็ยังขาดบุคลากรที่สามารถนำเสนอความเป็นไทยอย่างมีแบบแผน ภาควิชาศิลปะไทยจึงมีแนวคิดก่อตั้ง สาขาวิชาการออกแบบขึ้นเพื่อสนับสนุนสังคมในด้านนี้ จึงสร้างหลักสูตรวิชาการออกแบบ และพร้อมเปิดรับนักศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐

วัตถุประสงค์ของสาขาการออกแบบ
๑. เพื่อสร้างให้บัณฑิตมีความรู้แนวกว้างเกี่ยวกับการออกแบบ ทำให้เป็นผู้รอบรู้ มีทัศนคติที่ดีต่องานออกแบบ รู้จักการริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณค่าสู่สังคม
๒. เพื่อสร้างให้บัณฑิตเป็นผู้มีความรู้พื้นฐานทางศิลปะ รู้จักศึกษาค้นคว้าเพื่อสนับสนุนความคิดด้านการออกแบบอย่างมีระบบ พร้อมทั้งสามารถเป็นนักวิชาการ ที่มีความก้าวหน้าทางวิสัยทัศน์ สามารถเผยแพร่ ถ่ายทอด นำเสนอและวิจารณ์ มีความรู้ก้าวหน้าเท่าทันต่อการพัฒนาของวิทยาการในด้านนี้
๓. เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีแนวคิดและทักษะทางการค้นคว้า สามารถสร้างสรรค์ผลงาน และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมท้องถิ่น
๔. เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพและสังคม

 

สาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง

06        กว่าสิบปีที่ผ่านมา ภาควิชาศิลปะไทยเล็งเห็นว่าดนตรีและการแสดงที่มีอยู่ในสถาบันการศึกษาของ     ประเทศ ส่วนใหญ่มีลักษณะประเพณีนิยม และยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องการละครแบบล้านนาในสถาบัน     ใด จึงได้มีโครงการจัดตั้งสาขาวิชาศิลปะดนตรีและการแสดงขึ้น โดยมีแนวคิดที่ต้องการนำเสนอดนตรี         ศิลปะการแสดง ของล้านนาสู่สังคม พร้อมทั้งเน้นให้มีการพัฒนารูปแบบ และวิธีการนำเสนอให้มีความเป็น   สากลมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านการออกแบบเวที การจัดแสงและเสียง การออกแบบเครื่องแต่งกาย การแต่งเพลง  มีการแสดงทั้งแบบล้านนาประเพณี ล้านนาร่วมสมัย และล้านนาประยุกต์ ซึ่งผลงานที่นำเสนอต่อสาธารณชน  ได้รับความสนใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สนใจด้านนี้นำไปปรับใช้กับวิชาชีพได้เป็นอย่างดียิ่ง

ผลงานของภาควิชาศิลปะไทย

11        ภาควิชาศิลปะไทยมีผลงานสู่สังคม ครอบคลุมทั้งงานวิชาการ งานอนุรักษ์ และงานสร้างสรรค์ ส่วนทางด้านการเรียนการสอนนั้นคณาจารย์ภาควิชาศิลปะไทยมุ่งเน้นให้นักศึกษารู้จักมีความริเริ่มสร้างสรรค์ อย่างรู้ที่มาที่ไป เพื่อการประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง

ตัวอย่างที่ดีเช่นวิชา “การศึกษาเฉพาะเรื่อง” ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทำการศึกษาวิจัย และสามารถนำเสนอสิ่งที่ตนเองสนใจได้อย่างเต็มที่และไม่จำกัด โดยจัดแบ่งเป็น ๓ กระบวนวิชา คือวิชา ‘การศึกษาเฉพาะเรื่อง ๑’ ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักกับสิ่งที่สนใจนั้นอย่างลึกซึ้ง สนับสนุนให้ออกสำรวจภาคสนาม ค้นหาและรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างถูกต้องตามหลัก วิชาการ กระบวนวิชาต่อมาคือ ‘การศึกษาเฉพาะเรื่อง ๒’ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ศึกษามานำเสนอโดยการออกแบบสิ่งพิมพ์หรือสื่อ สารสนเทศ  และในวิชาโครงงานศิลปะไทย ส่งเสริมให้รู้จักนำความรู้ทั้งมวลมาสร้างสรรค์ใหม่ นำเสนอในรูปแบบใหม่ตามรสนิยมแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญแสดงให้เห็นถึงความคิด ไหวพริบปฏิภาณของนักศึกษา ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่างสถานการณ์

นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนปกติแล้ว คณาจารย์และนักศึกษาภาควิชาศิลปะไทย ยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมและนำเสนอต่อสังคม โดยจำแนกได้ดังนี้

10๑. งานวิจัยทางวิชาการ ที่เป็นเสมือนการบันทึกทางประวัติศาสตร์ประการหนึ่ง มีการค้นหา สืบเสาะความเป็นมาและรากเหง้าของวัฒนธรรม เรียบเรียงขึ้นในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสารสนเทศ  ให้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการศึกษาขั้นลึกต่อไป งานวิจัยทางวิชาการเหล่านี้ เน้นการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของล้านนา และถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบในห้องสมุดของทางคณะวิจิตรศิลป์ และสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศได้รับบริการ

๒. การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภาควิชาศิลปะไทยมีส่วนร่วมในการบูรณะ การอนุรักษ์ ทั้งงานจิตรกรรมฝาผนัง และงานสถาปัตยกรรม ในแต่ละปี ภาควิชาศิลปะไทยนำนักศึกษาเข้าร่วมการอนุรักษ์ ตามแหล่งศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือ ซึ่งได้รับความชื่นชมจากสังคมอย่างสูง ตัวอย่างเช่น การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมวิหารวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบ้านก่อ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เป็นต้น

๓. การส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งของล้านนาที่มีการประยุกต์รูปแบบศิลปกรรมเผยแพร่สู่สังคมโดยภาควิชาศิลปะไทยได้กระทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ เพื่อจรรโลงให้สิ่งดีงามเหล่านี้ให้คงอยู่สืบไป มีการนำเสนอทั้งการเสวนา การนำทัศนศึกษาที่สามารถแทรกความรู้พร้อมทั้งได้สัมผัสสถานที่จริง และส่งเสริมให้มีการจัดนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

12๔. การสร้างสรรค์หรือการออกแบบ คณาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย มีความเห็นว่า บางครั้ง การนำเสนอศิลปกรรมเต็มรูปแบบ อาจไม่ เข้ากับบางสถานการณ์ จึงเน้นให้นักศึกษารู้จักสร้างสรรค์ หรือ ออกแบบใหม่ เพื่อการนำเสนอที่สอดคล้องกับความต้องการของ สังคม หรือพยายามชี้นำสังคมให้ภาคภูมิ และร่วมอนุรักษ์ศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถแสดงออกได้ทั้งการออกแบบสิ่งพิมพ์ การออกแบบสื่อสารสนเทศ การออกแบบป้ายนิทรรศการ การ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบเวทีแสดงงานต่างๆ แม้กระทั่ง การหยิบยกลวดลายศิลปกรรมมาจัดรูปแบบใหม่ บนผลิตภัณฑ์ที่ นำสมัย ซึ่งได้รับความสนใจจากสังคม เช่นการเสริมลายไทยที่ หมวกนิรภัย ที่ยานพาหนะ บนเครื่องใช้ไฟฟ้า ลวดลายบนผืนผ้า เป็นต้น ที่เสมือนเป็นแรงผลักดันให้สังคมไทย มี จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป.