หลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์

หลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ เป็นหลักสูตร 4 ปี
BACHELOR OF FINE ARTS PROGRAMME IN MULTIDISCIPLINARY ART

โครงสร้างหลักสูตร สำหรับนักศึกษารหัส 66 (คลิกลิงค์เพื่อดูรายละเอียด)
โครงสร้างหลักสูตร สำหรับนักศึกษารหัสอื่นๆ (คลิกลิงค์เพื่อดูรายละเอียด)

ลักษณะการเรียนการสอน

สหศาสตร์ศิลป์ (มดา) : Multidisciplinary Art (mda)

เมื่อจำต้องเอ่ยถึง ‘สหศาสตร์ศิลป์’
ความคิดคำนึงถึงหลักสูตรหนึ่งซึ่งถูกคาดหวังว่าจะคลายปมการให้การศึกษาศิลปะระดับปริญญาตรีที่ถูกแบ่งประเภท แบ่งเทคนิค แล้วสอนในกรอบของประเภทงานและเทคนิคมาตั้งแต่อดีตซึ่งสำหรับกาลเทศะปัจจุบันภายใต้ความเป็นไปได้ที่หลากหลายกว่าในสารพัดมิติ อาจไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ศึกษาศิลปะได้มีหนทางในการศึกษาที่สอดคล้องกับความหลากหลายของยุคสมัย ในที่สุดความคิดนี้ได้เข้าสู่ความเป็นรูปธรรมคือการหาข้อมูลพร้อมๆกับเริ่มร่างหลักสูตรในปีค.ศ. 2008 มีนักศึกษารุ่นแรก 2012
“สหศาสตร์ศิลป์” คือชื่อไทยซึ่งถอดมาจาก Multidisciplinary Art แบบตรงไปตรงมาซึ่งแปร่งหูไม่น้อย และคนส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจว่าคือพื้นที่เรียนประเภทงานเดี่ยว 3-4 ประเภทซึ่งครองพื้นที่การศึกษาไทยมานานรวมๆกัน ซึ่งถูกในแง่ของการไม่จำกัดกรอบแต่ไม่ใช่ในหลักการที่ “หากเมื่อใดเราให้คำจำกัดความของคำว่าสร้างสรรค์ได้ การสร้างสรรค์ก็จะไม่สร้างสรรค์อีกต่อไป” การหาความหมาย ความเป็นอยู่(ชั่วครู่คราว) และความเป็นไป(หลายทิศหลากทาง)ของสหศาสตร์ศิลป์จึงไม่ควรมีขึ้นเพียงเพราะต้องการความชัดเจน แน่นอน ตรึงตราอันจะช่วยให้ง่ายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้สอนและผู้เรียน หมายถึงผู้สอนและผู้เรียนควรรับ ‘สภาวะเคว้ง’ ในทางความหมายของศาสตร์สาขาวิชานี้ แล้วยั่วล้อเพลิดเพลินไปกับการตระหนักรู้แบบแปลกๆ แกว่งส่าย หักเห ผกผัน ดำดิ่งแล้วพุ่งสูง แล้วพลันแช่นิ่งสงบชั่วครู่คราว อย่าเผลอล่ะ เดี๋ยวความเคลื่อนไหวผกผันก็จะกลับมาสู่ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่? แบบใด?
ถ้าสหศาสตร์ศิลป์สามารถพูดแทนความเป็นสหศาสตร์ศิลป์ได้ อาจออกมาเป็นประโยคในแบบที่ว่า
“ปล่อยให้ฉันเป็นไป ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็นและทั้งที่ไม่ควรจะเป็น เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายของพวกคุณ”
หรือ
“สหศาสตร์ศิลป์คือกระบวนทัศน์ชั่วคราว ที่กอรปก่อขึ้นในจังหวะ ขณะ กาลเทศะหนึ่ง เพื่อการทำความเข้าใจบางสิ่งอย่างของพวกคุณผู้ศึกษา โดยที่คุณควรจะยอมรับว่า ไม่มีหลักคิด กระบวนคิด ทัศนคติใดที่ยั่งยืน และคุณควรใช้ประโยชน์อันผุดเกิดจากขณะของและในความเป็นสหศาสตร์ศิลป์ในขณะที่คุณเผชิญ เพื่อเป็นเครื่องมือของความเข้าใจหรือแม้แต่คำถามในทิศทางที่เหมาะควรที่จะเดินโดยตัวคุณเอง”
สหศาสตร์ศิลป์อาจกำชับอีกว่า “อย่าศรัทธาในฉันจนเกินไป จนเกินกว่าที่จะเห็นความเป็นอื่น” และท้วงด้วยความรู้ทันสันดานมนุษย์ว่า
“อ้อ! หมายถึงความเป็นอื่นที่คุณเข้าถึงได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ของคุณเอง ด้วยความคลอเคล้าคลอเคลียของสหศาสตร์ศิลป์ แต่ไม่ใช่ความเป็นอื่นของกลุ่มหมู่ กระแส และเป้าหมายอันนอกเหนือความกระหายที่จะเข้าใจศิลปะ ชีวิต และโลก”
ในหลักสูตรมีดุลยภาพกำกับอยู่เอียงบ้าง เป๋บ้างตามน้ำหนักของแต่ละปัจเจกระหว่าง การทดลองและความระส่ำระสายของรู้สึกนึกคิด การลงมือผลิตและการพิเคราะห์ทบทวน รูปและนาม ปัญญาและสัญชาติญาณพื้นๆ รูปภาพและลายลักษณ์ เพราะความหลากหลายในวงกว้างของสหศาสตร์ศิลป์ ชั้นเรียนจึงต้องการการเรียนรู้ข้างเคียงคู่ขนานที่เป็นกิจกรรมผสมผสานที่สามารถรวมการเรียนรู้ได้มากกว่าความจำเพาะเจาะจงเชิงเดี่ยว นั่นเป็นเหตุให้เกิด การทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ ปศุสัตว์จังหวัด ลานนาด๊อค เวลแฟร์:ทำหมันสัตว์จรจัด 2012 การผูกสัมพันธ์กับสถานการณ์การเมืองเชียงใหม่และปัญหาท้องถิ่น:การเมืองเรื่องมะหมา2013 การออกค่าย: มดาเอาท์ดอร์1และ2 2015/2016 การเสพศิลป์และการบริโภคพื้นๆ: กินกับศิลป์ 2013-2015 นอกไปจากทัวร์ศิลปะในประเทศและนอกประเทศ 2013-2014 และล่าสุด มดา พลาซ่า 2016 ซึ่งขยายขนาดกินกับศิลป์ให้ใหญ่ขึ้นโดยการแสดงงานของสมาชิกมดาและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างลำดับชั้นของการสื่อสารและการบันทึก จากนิทรรศการนอกระบบแบบกระจาย สู่การนำเสนอข้อมูลในรูปนิทรรศการในห้องแสดงและการบันทึกแบบต่างๆ
กิจกรรมนานาของสหศาสตร์ศิลป์ มีลักษณะอย่างเด็กๆ ทดลอง เปลี่ยนเห คลุกเคล้า ไม่อยู่กับร่องกับรอย ออกฤทธิ์ออกเดชกับผู้ปกครองบ้าง เหนื่อยก็ลงนั่งพักพินิจดูจวนหลับ มองเกลี้ยงๆผ่านญาณหยั่งรู้แบบเด็กเล็กผู้จดจำรูป-สีของของเล่น หรือหู หางของสัตว์เลี้ยง สำคัญคือความเป็นเด็กมีชีวิตชีวา ชั้นเรียนและกิจกรรมแบบสหศาสตร์ศาสตร์ศิลป์ต้องการ การทดลองเล่นอย่างเด็กๆด้วยความมีชีวิตชีวา ที่มักตามมาด้วย การสังเกต และการประทับรอยในความทรงจำ เผื่อว่า วันข้างหน้าวันที่ ‘คนสหฯ’ เติบโตขึ้นเขาจะปลดล็อคการติดกับดักแบบผู้ใหญ่ของคนในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะด้านใดก็ตามที่มนุษย์ผู้อ่อนแอทั้งหลายมักติดกับ ติดข้องอยู่เนืองๆเป็นนิจ และปล่อยเชื้อคุณค่าแห่ง ‘ความเป็นปัจเจก’ ไปสู่สังคมไทยในวงกว้าง เผื่ออีกว่า… ถ้าเป็นไปได้ “เราจะเป็นไทแก่ตัว” ทั้งสำนึกและการลงมือ โดยเฉพาะการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าแห่งตน